บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ความเชื่อ ความจริง คนไทย

สิ่งแรกที่ควรจะเข้าใจกันก่อนก็คือ ความเชื่อคืออะไร คำว่า เชื่อพจนานุกรมฉบับล่าสุดให้ความหมายได้ดังนี้

ก. เห็นตามด้วย มั่นใจ ไว้ใจ; ซื้อหรือขายโดยติดค้างไว้ ไม่ต้องชำระเงินทันที.

คำว่า ก. นั้นหมายถึงว่า เป็นคำกริยา (verb)  พจนานุกรมยังเก็บความหมายของลูกคำไว้อีก ดังนี้

  • เชื่อใจ ก. ไว้ใจ
  • เชื่อถือ ก. นับถือ
  • เชื่อฟัง ก. ทำตามหรือประพฤติตามคำสั่งหรือคำสอน
  • เชื่อมือ (ปาก) ก. เชื่อฝีมือ เชื่อความรู้ความสามารถ
  • คำว่า (ปาก) หมายถึงว่า คำว่า เชื่อมือเป็นภาษาพูด ไม่ควรใช้ในภาษาทางการ หรือภาษาวิชาการ
จากความหมายของพจนานุกรม จะเห็นว่า ยังไม่ตรงกับความหมายของเรา ที่ต้องการจะสื่อสารกันนักในบทความนี้ 

ดังนั้น ผมจึงจะให้คำจำกัดความเฉพาะที่เราจะใช้ในบทความนี้ว่า ความเชื่อนั้น หมายถึงว่า  ถ้าเรามีความเชื่อในสิ่งใด ก็คือ เราเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง และเราก็จะปฏิบัติตามที่สิ่งนั้นกำหนด

อย่างไรก็ดี ความจริงซึ่งเกี่ยวพันกับความเชื่อของคนไทย มีลักษณะที่เป็นเอกเทศเฉพาะตัว ก็ต้องอธิบายเรื่องความจริงกับคนไทยเสียก่อน ดังนี้

ความจริงกับคนไทย

ดูเหมือนว่า คนไทยเราจะเชื่อว่า มี ความจริงอยู่อย่างเป็นวัตถุ ซึ่งสามารถนำสิ่งอื่นที่เห็นว่า ไม่จริงมาเปรียบเทียบกันได้อย่างจะจะ  ทั้งๆ ที่ก็ไม่เข้าใจนักหรอกว่า ความจริงมันเป็นอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น พระปลอมซึ่งก็คือ พระที่ไม่จริง ในที่นี้หมายถึง พระเครื่องที่นำมาห้อยคอกัน  จะเห็นว่า ในการพิสูจน์พระปลอมนั้นง่ายมาก ก็เอาไปเทียบเคียงกับพระจริง

โดยปกติแล้ว เซียนพระเขาจะดูกันที่ตำหนิ คือ พระเครื่องที่นำมาห้อยคอนั้น ในการผลิตจะต้องมีตำหนิเป็นเอกลักษณ์ของพระรุ่นนั้นๆ  เมื่อเทียบกับตำหนิแล้ว จึงสามารถยืนยันได้ว่า องค์นี้องค์นั้นปลอมหรือไม่

ที่ผมเคยมีประสบการณ์ก็คือ คนที่นำมาขาย (หรือให้เช่านั้น) เถียงคอเป็นเอ็นว่า ผมทำมากับมือ มันจะปลอมได้อย่างไง

ความจริงเป็นอย่างไร

ความจริง (truth) ในทางศาสตร์ตะวันตก ซึ่งก็หมายถึงปรัชญาตะวันตก และวิทยาศาสตร์ทั้งวิทยาศาสตร์เก่าและฟิสิกส์ เขาเห็นว่า เป็นข้อความที่ตรงกับข้อเท็จจริง (fact) และ/หรือความเป็นจริง (reality)

ที่เขียนไปนั่น ดูเหมือนไม่ยาก  แต่จริงๆ แล้วมันยากมากที่จะกำหนดว่า ความจริงคืออะไร 

เพราะทฤษฎีและแนวคิดของศาสตร์ตะวันตกมีมาก  มันจึงกลายเป็นว่า ความจริงของทฤษฎีไหน
พูดให้ง่ายๆ ก็คือ ความจริงของศาสตร์ตะวันตกมีหลายชุด

ยกตัวอย่างที่คลาสสิก (classic) สุดก็คือ คำถามนี้  “แสงเป็นคลื่นหรืออนุภาค?” 

ถ้าไม่เข้าใจว่า คลื่นหรืออนุภาคก็ให้เข้าใจง่ายๆ ว่า คลื่นกับอนุภาคเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน  ถ้าเป็นคลื่นแล้ว จะต้องไม่เป็นอนุภาค  ถ้าเป็นอนุภาคแล้วก็ต้องไม่เป็นคลื่น

คำถามที่เป็นความจริงสั้นๆ อย่างนั้น  ปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังตอบไม่ได้เลย มีหนังสือวิทยาศาสตร์บางเล่ม เขียนถึงคำตอบของศาสตราจารย์ท่านหนึ่งไว้ว่า

วันจันทร์ พุธ และวันศุกร์ อาจารย์สอนว่า แสงเป็นคลื่น
ส่วนวันอังคาร พฤหัสฯ และวันเสาร์ อาจารย์สอนว่า แสงเป็นอนุภาค

โดยสรุป แสงนี่บางครั้งทำตัวเป็นคลื่น บางครั้งทำตัวเป็นอนุภาค

ในเมื่อเข้าใจความจริง และความเชื่อกันบ้างแล้ว จึงจะลงลึกในรายละเอียดต่อไป...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น