บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ความเชื่อความจริง 4 ประเภท


ในบทความ “ความเชื่อ ความจริง คนไทย”  ผมได้กล่าวถึงความหมายของความเชื่อกับความจริงไปแล้ว

ความเชื่อ หมายถึงว่า  ถ้าเรามีความเชื่อในสิ่งใด ก็คือ เราเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง และเราก็จะปฏิบัติตามที่สิ่งนั้นกำหนด

สำหรับความจริง (truth) นั้น เป็นข้อความที่ใช้กันในภาษา  ถ้าข้อความใดๆ ที่ใครก็ตามสื่อออกมา ตรงกับข้อเท็จจริง (fact) หรือ ความเป็นจริง (reality)

ข้อความนั้นก็เป็นความจริง  ถ้าไม่ตรงก็เป็นความเท็จ

กลับมาถึงบุคคลที่แบ่งตามความเชื่อ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

1) พวกเชื่อว่าวิทยาศาสตร์เป็นความจริง

พวกนี้ มักจะเป็นพวกที่ได้เรียนหนังสือในระบบโรงเรียนมามากพอสมควร

พวกนี้จะเชื่อวิทยาศาสตร์อย่างสุดกู่ สิ่งไหนสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่ได้ จะหลับหูหลับตาบอกไปเลยว่า ไม่จริง

ในความเป็นจริงแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยุคเก่าเขาไม่ได้เน้นที่ว่า สิ่งนั้น สัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่ได้หรือไม่

เขาเน้นว่า สิ่งไหนที่ วัดด้วยเครื่องมือในทางวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ได้  ถ้าสิ่งไหนวัดด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้

สิ่งนั้นอันนั้นก็ถือว่าไม่จริงทั้งหมด

แต่การที่มีใครก็ตามพูดว่า นักวิทยาศาสตร์ยุคเก่าเห็นว่า สิ่งใดก็ตามสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่ได้ สิ่งนั้นไม่จริง

ก็ไม่ถือว่าผิด  เพราะ การสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ก็ถือว่า “เป็นการวัด” แบบหนึ่งในทางวิทยาศาสตร์

เมื่อนักวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตันใช้ “การวัด” เป็นมาตรฐานในการกำหนดความจริง  บางสิ่งบางอย่าง ที่เราก็รู้ว่ามีจริงๆ เช่น ความรัก”, “ความเกลียดเป็นต้น  วิทยาศาสตร์เขาก็ไม่สนใจที่จะศึกษา

หนักเข้าไปอีก คือ ไม่ยอมศึกษาถึงเลย ทั้งๆ ที่รู้ว่า มันมีอยู่จริงๆ

แต่ตอนนี้ ความเชื่อแบบนี้ มันถูกล้มเลิกไปแล้ว โดยองค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์กันเอง คือ ฟิสิกส์ใหม่

คนที่ยังเชื่อวิทยาศาสตร์อย่างไม่ลืมหูลืมตา ก็ถือว่าเป็นพวกตกยุค  สิ่งที่น่าตกใจก็คือ พวกตกยุคอย่างนี้ยังมีมากในสังคมไทย

ขอให้สังเกตดู อ่านตามหนังสือหรือเว็บไซต์ เรายังจะพบข้อความที่ว่า วิทยาศาสตร์คือความจริง ศาสนาคือความเชื่อ อยู่เสมอๆ

นี่แหละคือตัวอย่างของพวก เชื่อวิทยาศาสตร์อย่างงมงาย ไม่ลืมหูลืมตา

2) พวกเชื่อว่า ปรัชญาตะวันตกเป็นความจริง

พวกนี้มีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นนักวิชาการที่เรียนสูงๆ หน่อย โดยเฉพาะสาขาทางปรัชญา

พวกนี้จะเชื่อเหตุผล (reason) อย่างเดียว โดยเฉพาะเหตุผลของศาสตร์ตะวันตก ดังนั้น พวกนี้จึงจะเชื่อวิทยาศาสตร์ไปด้วย

พวกนี้จะมีโอกาสเขียนหนังสือเผยแพร่ได้มาก จึงเผยแพร่ความเชื่อของตนเองได้มากตามไปด้วย 

กลุ่มคนที่อ่านหนังสือของพวกเชื่อว่า ปรัชญาตะวันตกเป็นความจริง และเชื่อตามหนังสือ จึงมักจะไม่รู้ตัวว่า ตนเองเชื่อไปตามปรัชญาตะวันตก

3) พวกเชื่อว่า ไสยศาสตร์/อำนาจลึกลับเป็นความจริง

พวกนี้จะเชื่อถืออะไรก็ตามที่มีอิทธิฤทธิ์ อิทธิเดช  เรียกว่า นับถือดะไป ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าพ่อ คนทรงเจ้า หมอดู

อย่างไรก็ดี กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาด้วย  แต่จะเป็นศาสนาอะไร แบบไหนก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

โดยมากจะนับถือศาสนาเป็นอันดับหนึ่ง คือ ให้สังเกตดูสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้าน พระบูชาจะตั้งไว้สูงสุด ต่ำลงมาก็จะเป็นเครื่องรางของขลังต่างๆ ตามความศักดิ์สิทธิ์

ยกตัวอย่างของเพื่อนผม น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี

เพื่อนผมคนนี้ ตอนนี้บวชเป็นพระแล้ว  ในสมัยที่ยกเป็นวัยรุ่นกันอยู่  ท่านจะคล้องพระเครื่องนับสิบองค์ได้  พระเครื่องก็คล้องไว้ที่คอ

ส่วนที่เอวนั้น จะมีปลัดขิกนับสิบอันเหมือนกัน มีทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ หลายหลายชนิดว่าอย่างงั้นเถอะ

ท่านบวชพระตอนอายุมากแล้ว  ตั้งใจว่าจะบวชไม่สึก หลายปีแล้วผมไปเยี่ยมท่าน ปลัดขิกของท่านก็ยังอยู่เหมือนเดิม

ขนาดบวชเป็นพระแล้ว

4) พวกเชื่อว่า ศาสนาพุทธเป็นความจริง

กลุ่มคนกลุ่มนี้ ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ก็เป็นกลุ่มที่ทับซ้อนอย่างมากกับกลุ่มพวกเชื่อว่าไสยศาสตร์/อำนาจลึก ลับเป็นความจริง คือ ผสมปนเปกันไป 

พวกที่เชื่อไสยศาสตร์/อำนาจแต่เพียงอย่างเดียว ศาสนาไม่นับถือ พระไม่ไหว้เลย นี่ก็มีเป็นจำนวนน้อย

กลุ่มที่เข้าถึงศาสนาจริงๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับไสยศาสตร์เลยก็มีเป็นจำนวนน้อย เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่จะผสมปนเปกันไป

ในบทความนี้ เราได้แบ่งกลุ่มบุคคลตามความเชื่อออกเป็น 4 กลุ่ม คือ เชื่อวิทยาศาสตร์ ปรัชญา ไสยศาสตร์ และศาสนา 

กลุ่มสุดท้ายนี้ สับสนปนเปกันไป  พวกที่นับถือไสยศาสตร์อย่างเดียว ไม่ไหว้พระเลยนี่ มีน้อยมาก หรือเกือบจะไม่มี  พวกที่นับถือศาสนาล้วนๆ ไม่เชื่อไสยศาสตร์เลยนี่ ก็มีน้อยมาก 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น